วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตอนที่ ๑ ที่มาที่ไป

ตอนที่ ๑   ที่มาที่ไป
          
                 ตั้งแต่โตมาจนแก่ผมหงอก สายตายืดยาว  เขียนหนังสือมากว่าสิบเล่ม  ยังไม่เคยมีหนังสือเล่มใดที่หาที่เขียนเริ่มต้นหนังสือ  ได้แปลกเท่ากับหนังสือเล่มนี้ "กลับบ้านก๋ง"

               เรื่องมันเป็นอย่างนี้.....
               เมื่อต้นเดือนเมษายน คิดว่าจะเข้ากาลเปลี่ยนผ่านราศีปีใหม่ของไทยเราแล้ว ทำไมไม่หาความดีใส่ตน ประกอบกับวาระกาลมงคลปีนี้เป็นปีแห่งการฉลองตรัสรู้ ๒๖๐๐ ปีของพระพุทธองค์ด้วย  ซึ่งเรียกชื่อว่า  การฉลองพุทธชยันตี  จึงวางแผนชีวิตการปฎิบัติธรรมกรรมฐานด้วยการขึ้นไป  ถ้ำวิสุทธิมงคลสกลทวาปี ตั้งใจว่าขึ้นไปปฎิบัติบูชาพระพุทธองค์ ราตรี   ดังในหนังสือ "พุทธชยันตีบูชา" ช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๑  เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

ถ้ำวิสุทธิมงคลสกลทวาปี
ถ้ำนี้น่าจะเป็นถ้ำในตำนานอุรังคนิทานที่พระพุทธองค์เสด็จประทับ

สมเด็จพระพุทธศิริ

พระประธานสลักนูนต่ำที่ถ้ำวิสุทธิมงคลสกลทวาปี
ที่คณะปฎิบัติธรรมกรรมฐานช่วยกันแกะสลักเป็นพุทธชยันตีบูชา
ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

              หลังจากเข้ากรรมฐานเสร็จสิ้นแล้ว ได้เกิดสังหรณ์ใจว่า ผลของการปฎิบัติบูชาคราวครั้งนี้จะทำให้เกิดโชคลาภและบารมีแผ่ขจรขจายไปไกล  ให้เกิดเป็นตัวอย่างที่ดีในการปลูกศรัทธาของชาวพุทธอย่างแน่นอน

              ใครจะไปคาดคิดเล่าว่า เครือข่ายจิตวิญญาณอาสาของวัดคำประมง ได้แจ้งข่าวมาจาก  กทม.ว่า องค์กรชาวพุทธทั้งโลกได้พร้อมใจกันจัดงานฉลอง  พุทธชยันตี ทั่วโลกพร้อมกัน  ประเทศไทยให้จัดงานที่สนามหลวง ระหว่างวันที่ ๒๙  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๕๕  ถึงวันที่  ๔  มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๕๕ รวมเวลา  ๗ วัน

             ในฐานะจิตวิญญาณอาสารุ่นแรกบุกเบิกของอโรคยศาล  วัดคำประมง   ฤาษีเอก  อมตะ จึงต้องเข้าร่วมประชุมสุมหัวเพื่อออกความคิดเห็นที่ร้านคำหอม กาแฟอร่อยที่สุดในโลก  พร้อมกับเหล่าคณะกรรมการ ๒ ครั้ง ครั้งที่สามอยู่ที่อโรคยศาล วัดคำประมง คราวนี้ หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม เป็นประธานสงฆ์ในกรประชุม  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร  ท่านจรินทร์  จักกะพาก เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม 
เจ้าอาวาสและผู้ก่อตั้ง อโรคยศาล วัดคำประมง

            หลังจากนำข้อเสนอของที่ประชุมมาแปรเปลี่ยนเป็นงานภาคปฎิบัติและกระจายงานกันไปทำตามความสามารถแล้ว  ทีมงานกลุ่มศิลปินวาดอักษร และ ศิลปินเดี่ยว วงเอก อมตะ ได้พากันแต่เพลงดนตรีบำบัดชุด  อโรคยศาล  ซึ่งต้องการให้เพลงออกมาในแนวท่วงทำนองความหมายว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนให้พากันปฎิบัตินั้นเพื่อให้เกิดเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ลำบากกายใจ  ให้รู้จักเกื้อกูลอาทรกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เรียกว่า เอาธรรมะที่ดูว่าจะเป็นภาษาที่ยาก  มาแปลงเป็นภาคปฎิบัติในชีวิตประจำวันที่ง่ายๆ ว่างั้นเถอะ

           เพลงที่กลุ่มศิลปินวาดอักษรเขียนขึ้นมามีอยู่ ๔  เพลง ได้แก่ เพลงธรรมะหลวงตา  สุดท้ายที่วัดคำประมง  จิตวิญญาณอาสา  สัจธรรม     ส่วนวงเอก  อมตะ  เขียนเพลงด้วยความรู้สึกเมตตาสงสารผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คือ คุณแตน  ชินานันทร์  ศิริสวัสดิ์ คือเพลง  แตน ชินานันท์  ส่วนเพลงที่เขียนถวายบูชาพระพุทธองค์ เป็นบทเพลงที่เกิดจากการภาวนา ได้แก่เพลง  พุทธชยันตีบูชา

           จากวันประชุมครั้งแรกจนถึงวันบันทึกเพลง เรียบเรียงเสียงประสานที่ห้องบันทึกเสียง สะตอ - ผักหวาน  เร็คคอร์ด  ทีมงานดนตรีบำบัด  กลุ่มศิลปินวาดอักษร  โดยเฉพาะ  คุณผลไม้  หรือ คุณเสรฐวุฒิ  วราพุฒ   แทบจะไม่ได้หลับได้นอน เนื่องจากต้องเรียบเรียงเสียงประสานจนดึกดื่น   เพราะในกาละนี้แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใด  กำลังใจที่ต้องการทำเพลงถวายเป็นมหาบุญญาบารมีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มากมายไหลหลั่งเปี่ยมล้นจนลืมความลำบากทุกข์ยากนั้นเสียสิ้น แม้จะมีพญามารมาผจญก็ไม่ย่อท้อหวั่นไหว

         การจัดงานพุทธชยันตีคราวนี้จัดขึ้นที่มลฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานครดังกล่าวมาแล้ว ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕  ถึงวันที่  ๔  มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๕๕  รวมเวลา  ๗ วัน การบันทึกเพลงจำนวนพันกว่าแผ่นก็มาเสร็จเอาตอนบ่ายสองโมงของวันที่ ๒๘  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๕๕  ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินของสายการบินนกแอร์จากสกลนคร  ทีมงานทำเพลงพุทธชยันตี ฤาษีเอก  อมตะ และ จุ้ย วาดอักษร ก็เหิรฟ้ามา  กทม.เวลาบ่ายสามโมงยี่สิบนาทีพอดี

ซ้ายมือ จุ้ย  วาดอักษร     ขวา ศิลปินเดี่ยว  วงเอก  อมตะ

         ไม่เรียกว่า บารมีแผ่ขจรขจายไปไกลแล้วจะเรียกว่าอะไร ผู้คนชาวพุทธมาร่วมงานพุทธชยันตีมีมากมายมหาศาล  ต้องมีคนได้รับแผ่นซีดีเพลงดนตรีบำบัด ชุด  พุทธชยันตี คราวนี้ ต้องไม่น้อยกว่า หนึ่งพันคน  ทำเพลงชุดเดียวมีคนได้ฟังทันทีพันคนและเจาะจงแจกในงาน พุทธชยันตี ๒๖๐๐  ปี (คงไม่มีโอกาสทำ พุทธชยันตี ๒๗๐๐ ปี แน่ ๆ ) ไม่เรียกว่า บารมีขจรขจายแล้วจะให้เรียกว่า เกิดมาดัง  ก็เกินไป


        ส่วนที่ว่า  สังหรณ์ใจ  ว่าจะเกิดโชคลาภนั้น เป็นเพราะเมื่อประมาณวันที่ ๓ - ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ คุณประสาท ตงศิริ  ร้านศิริยนต์วัฒนา  ได้โทรศัพท์มาชวนไปเที่ยวเกาะไห่หนำ ทราบมาว่า โทรชวนญาติหลายท่านที่มีกะตังส์  แต่ก็มีติดธุระ สุขภาพไม่ดีบ้าง เลยไม่ได้ไป  ส่วนฤาษีผู้ยากไร้ บอกว่ามีเท่าไหร่ก็ให้เอามาเท่านั้นแหละ สรุปค่าทัวส์เป็นเงินหมื่นสองหมื่น  คุณประสาทก็ช่วยดูแลออกให้ทั้งหมด ฤาษีได้แต่ค่าเครื่องบินสองหมื่นบาท    ไม่เรียกว่าเป็นโชคแล้วจะให้เรียกว่ากระไร

        โปรแกรมเป้าหมายที่ทำให้ฤาษีตัดสินใจเดินทางไปคราวนี้     เพราะมีกำหนดการ  "กลับบ้านก๋ง" ที่หมู่บ้านนกเขาเหิร  หรือ กะตุ่ยโผสุย (กะตุ่ย แปลว่า นกเขา โผ  แปลว่า เหิรบิน สุย  แปลว่า บ้าน) หรือ บุ่นสิวโผสุย ( ชื่อเป็นทางการสมัยใหม่) แถมระหว่างเดินทางนั่งเครื่องบิน  นั่งรถไฟฟ้า  ไปที่เมือง  กวางเจา  ไหโข่ว เหวินชาง ซานย่า   ไปดูหาดทราย  สายลม  ชมต้นมะพร้าวงาม  กราบพระโพธิสัตย์กวนอิมสูงที่สุดในโลก ชิมข้าวมันไก่เหวินชาง  .....
               
                  ..อุ๊แม่เจ้า  สวรรค์ทะเลใต้
เป็นจริงที่ไห่หนาน



       กำหนดการเดินทางไปไห่หนาน  หรือเกาะไหหนำ หรือ ที่คนไทยออกเสียงว่า ไหหลำ  (ขอร้อง อย่าผวนคำ) ระหว่างวันที่ ๓๑  พฤษภาคม ๒๕๕๕  ถึงวันที่ ๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ 

         สรุปว่า  มางานพุทธชยันตีบูชา ๒๙ -๓๑ พฤษภาคม ๕๕  ต่อเครื่องบินไปคว้าไข่มุกทะเลใต้มาเชยชม  ๓๑ - พฤษภาคม - ๔ มิถุนายน ๕๕ ได้ทั้งบุญบารมีและโชคลาภ ว่างั้นเถอะ ...นี่ละมั้งที่เป็นผลจากการไปปฎิบัติ พุทธชยันตีบูชาพระพุทธองค์  ที่ถ้ำวิสุทธิมงคลสกลทวาปี  กลางป่าภูเพ็ก

           ที่มาที่ไปของหนังสือ "กลับบ้านก๋ง"  จึงมาเริ่มต้นอักษรตัวแรกในสถานที่แปลกประหลาดที่ถนนรามบุตรี ซึ่งถัดไปอีกซอยหนึ่งก็เป็นเมืองหลวงโลกของฝรั่งชาวต่างชาติ  ถนนข้าวสาร  บางลำภู  กทมบนเก้าอี้และโต๊ะอาหารของร้าน Taptim Bistro เล็กหรูดูดีมีสไตร์  อาหารอร่อยราคาไม่แพง ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้  ร้านอาหารอู่ทอง อาหารไทยรสจัด กำลังบรรเลงเพลงสากลเสียงอึกทึกโครมครามหนวกหู และได้อารมณ์สะใจ  ถึงแม้จะฟังไม่รู้เรื่อง และมั่วกันไปมาของบรรยากาศสารพัดฝรั่งทั่วโลกที่มาประชุมกันที่บางลำภูแห่งนี้โดยมิได้นัดหมายก็ตาม



          สำหรับร้านทับทิมแล้ว  ได้ลองสั่งหมูสะเต๊ะมาทดสอบคุณภาพหนึ่งจาน ปรากฎว่าน้ำจิ้มรสจัดจ้านมาก อร่อยจนคิดถึงความหลัง ว่าที่เคยรับทานหมูสะเต๊ะมาไม่อร่อยถึงใจเท่าร้านนี้สักแห่ง  ยิ่งถ้าใครชอบกลั้วปากด้วยน้ำอำพันละก็...สะใจขอบอก...

           เวลาล่วงเลยมา ๕ ทุ่มพอดี ดนตรีแบบสไตร์ลาตินกำลังเขย่าลูกคอเคล้าเสียงกลองประกอบลีลาชีวิต ของฝรั่งทุกมุมโลก มาปลดปล่อยเปื้องเปลืองอารมณ์กัน  ต้องขอเชิญชวนทุกท่านมาปล่อยอารมณ์ฝันไปตามจินตนาการของความเรียงอักษรฤาษี ตามแบบฉบับที่ไม่ค่อยมีใครทำตาม...ได้แล้วบัดนี้


                                      ด้วยความเคารพในทุกท่าน

                                     ฤาษีเอก  อมตะ

                                         ร้านทับทิม  บิสโทร  ถนนรามบุตรี บางลำภู กทม.
                                       เวลา ห้าทุ่มสิบนาที
                                                       วันที่  ๒๘  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๕๕                     

        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น