วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ ๑๐ มูลนิธิตระกูลฝู่ เหวินชาง



        หลังจากคณะเราร่ำลาญาติพี่น้องตระกูลฝู่แล้ว     รถตู้ได้พาคณะเราเลาะเลียบตามถนนทุ่งนา
ฝ่าท้องทุ่งที่กำลังเขียวขจีงดงามด้วยต้นข้าวกำลังแตกกอ        แล้วตัดขึ้นถนนลาดยางกลับไปที่เมืองเหวินชางอีกครั้งหนึ่ง  นัยว่า นัดพบกับคณะกรรมการศาลเจ้าตระกูลฝู่  และญาติพี่น้องของตระกูลฝู่ที่ได้เฝ้ารออยู่ตั้งแต่เช้าแล้ว  

        เมื่อรถตู้ไปถึง ภาพที่เห็นเป็นซุ้มประตูทางเข้าที่ยิ่งใหญ่สวยงาม  สร้างตามแบบจีนตามตำราที่เป็นมงคล  ด้านข้างมีสวนแบบจีนที่สวยงาม เสียดายไม่ได้เข้าไปดู  เพราะจิตใจมัวแต่จดจ่ออยู่กับการไปหาบ้านของตระกูล  แต๊ต๋ง.....


ซุ้มศาลบรรพชนตระกูลฝู่  ใหญ่โตสวยงามมาก

ทราบมาว่าศาลตระกูลฝู่แห่งนี้มีการตั้งมูลนิธิไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของตระกูลด้วย
 
 

 
เมื่อคณะของเราเดินทางไปถึง คณะกรรมการของมูลนิธิและเป็นผู้อาวุโสของตระกูลได้เข้าต้อนรับและแสดงความยินดีกับก๋งอารีย์ที่คณะกรรมการทำหน้าที่ค้นหาหมู่บ้าน แต๊ต๋ง  ได้สำเร็จตามที่ก๋งอารีย์ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องของลูกหลานแต๊ต๋งโดยเฉพาะแต่ท่านก็ยินดีให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
 
 
คุณยอดชายที่เป็นไกด์คนจีนได้ทำหน้าที่แปลภาษาให้บอกว่า  ทางคณะกรรมการของมูลนิธิรู้สึกยินดีที่มาเยี่ยม และปลาบปลื้มใจที่ทำหน้าที่คนจีนใหหลำด้วยกัน  ให้ความช่วยเหลือกันจนพบหมู่บ้านของตระกูล  และขอเชิญเข้าไปชม พักผ่อนข้างในมูลนิธิก่อน  ซึ่งข้างในนั้นมีรูปถ่ายของบรรพชนตระกูลฝู่มากมาย  แต่ละท่านต่างทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติสังคมมากมาย
 
 
 

 
หลังจากผ่านประตูของศาลตระกูลฝู่เข้าไปข้างใน  มีป้ายไม้เจาะฉลุลวดลายขนาดใหญ่มาก  มีตัวอักษรจีนสีทองเขียนไว้ 2 ตัว
อ่านเป็นภาษาใหหลำว่า  ยั๊กตี่นัง  โต้วยักตี่เซ่ 
แปลว่า  คนหนึ่ง  เวลาหนึ่ง
หมายถึง คนเราเกิดมามีเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไปทีละนิด หากไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไรแล้ว เวลาของคนนั้นก็จะผ่านเลยไป  คนๆ หนึ่งก็มีเวลาเป็นของตนเอง ฉนั้นอยากทำอะไรที่คิดว่าดี เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น สังคมก็เร่งรีบทำซะ..ก่อนจะสายเกินไป
 
ในศาลตระกูลฝู่มีคนสำคัญคือ ญาติของตระกูลแต๊ต๋ง
 ได้มารอรับคณะของเราตั้งแต่เช้าแล้ว  ท่านผู้นั้น คือ  ตงกวงซ่าน 
 คุณประสาท ตงศิริ ได้เอาของฝากจากเมืองไทยมอบไว้ให้เป็นการต้อนรับขับสู้กัน จาก คนตงไทย กับ คนตงใหหลำ
 
 
ตงกวงซ่าน คนที่ 2 จากซ้ายรูปนี้ท่านมรอายุ 68 ปี
 แต่ปี พ.ศ.2556 นี้ ท่านมีอายุ 70 ปี
 
 

         ตงกวงซ่านเล่าว่า คุณพ่อก่อนเสียชีวิตไม่มีสมบัติใดมอบให้เลยมีแต่ ป๋วย หรือหนังสือบันทึกลำดับตระกูลเล่มเล็กๆ เล่มเดียว  สมุดบันทึกนี้ทำจากกระดาษเนื้อหยาบเหมือนกระดาษถุงปูนซีเมนต์  ข้างในมีตัวอักษรจีนที่บอกลำดับญาติตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน  และหนังสือหรือป๋วยนี้แหละที่มีความสำคัญอย่างมาก ทำให้ภายหลัง  ลูกหลานคนตงทุกคน ต้องตื่นเต้นตกตะลึงในสิ่งที่คาดไม่ถึง  จนทำให้ต้องเดินทางกลับไปค้นคว้าหาข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง  ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น  ต้องคอยอ่านตอนต่อไป
 









 




 
คณะกรรมการของมูลนิธิแซ่ฝู่ทุกคน และคณะของเราต่างตื่นเต้นในบันทึกนั้นมาก จึงช่วยกันรุมดู รุมอ่านด้วยความยินดีในเอกสารนี้ 
 เพื่ออยากจะรู้ที่มาของตระกูล คนตง 
ก๋งอารีย์ได้เคยบอกผมไว้ว่า คนเราหากไม่รู้ประวัติที่มาของตนเอง จะเหมือนต้นไม้ไม่มีรากแก้ว  ขาดแก่นของชีวิต  ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงอย่างที่สุด
 
 


 
 
















ตอนที่ ๑๒ หมู่บ้าน แต๊ต๋ง




ก่อนอื่นต้องขอพาท่านผู้อ่านทุกท่านกลับมาที่ถนนใหญ่ลาดยางก่อน .....
เมื่อรถเราผ่านสะพานไปแล้วต้องวกรถกลับลงข้างทางด้านซ้ายแล้วเลี้ยวขวา   ที่ตรงนี้จะมีป้ายบอกทางเข้าอยู่ ๔ หมู่บ้านในป้ายเดียว  หมู่บ้านแต๊ต๋ง อยู่บนซ้าย  อ่านว่า เหวินสิวโผสุย แปลว่า หมู่บ้านนักปราชฌ์  หรือแต่ก่อนชื่อว่า กะตุยโผสุย แปลว่า หมู่บ้านนกเขาเหิร           เราเลี้ยวรถเข้าไปตามเส้นทางนั้น





เมื่อเลี้ยวโค้งกลับมาลงตามถนนคอนกรีตเมื่อมองย้อนหลังไปได้เห็นอุโมงค์ลอดถนน ข้างบนถนนมีสะพานผ่านทางซึ่งก็เป็นทางรถยนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ในกูเกิ้ลอาจมองไม่เห็นสภาพจริง

เมื่อรถวิ่งเข้ามาได้สักครู่หนึ่ง
มองเห็นสองข้างทางมีสวนยางพารา
ขนาดใหญ่ที่กรีดยางได้แล้ว



เมื่อรถมาถึงทางสามแยก รถเลี้ยวเข้าหมู่บ้านแต๊ต๋ง 
ได้มองย้อนหลังมาเห็นป้ายประกาศ แน่นอนว่าเป็นภาษาจีน
 และเราไม่สามารถจะอ่านออกได้ เรื่องนี้พอเข้าใจและเห็นใจ ลูกเจ๊กโคกมาก


รถขับเข้ามาได้สักร้อยเมตรคราวนี้ มองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของดิน ฟ้า อากาศ ให่หลำเป็นเมืองที่อากาศเย็นสบาย ดินอุดมสมบูรณ์ปลูกพริกไท (ความจริงน่าจะเรียก พริกจีน) ไว้มากมาย  มีสวนลิ้นจี่เต็มไปหมด
ดูแล้ว ไม่เหมือนกับที่เข้าใจแต่ต้นว่า เมืองจีนลำบากแห้งแล้ง
พอจะเดาเหตุการณ์ได้ว่า ที่บรรพบุรุษแต๊ต๋ง เดินทางรอนแรมมาประเทศไทยนั้น น่าจะฟันธงได้ว่า เกิดจากภัยสงครามที่ทหารญี่ปุ่นบุกประเทศจีน    ส่วนประเด็นเรื่องความลำบากยากจนนั้น น่าจะเป็นประเด็นรองลงมา...



เมื่อผ่านสวนพริกไทยและสวนลิ้นจี่จะเห็นทางเข้าหมู่บ้าน แต๊ต๋ง
เป็นทางลาดคอนกรีตขนาดพอรถวิ่งเข้าไปสวนกันได้แบบช้าๆ
สองฝั่งข้างทางมีต้นมะพร้าวขึ้นมากมาย  เรื่องนี้ได้สอบถาม  ตงกวงอิ้ว     ที่โนนสะอาด (ตอนที่บันทึกนี้ วันอังคาร ที่ ๒๑ มกราคม ๕๗ กวงอิ้ว     น่าจะมีอายุ ๙๐ ปี ) ว่าตอนที่ท่านอยู่ในหมู่บ้านนี้  ทางเข้าหมู่บ้านจะเห็นต้นมะพร้าวมากมาย ถ้ามาถึงหมู่บ้านของเรา จะมองเห็นต้นมะพร้าวแต่ไกลๆ  เรื่องนี้น่าจะจริง เพราะไปเห็นกับตามาแล้ว 




เมื่อเข้ามาตามถนนคอนกรีตได้ไม่นานเลี้ยวโค้งอีกครั้งหนึ่งซ้ายมือ
จะเห็นหมู่บ้าน แต๊ต๋ง อยู่ข้างหน้า ตัวผู้บันทึกเองเกิดความรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้มาเห็นหมู่บ้านของตระกูล แต๊ต๋ง และมีคำถามอื่นอีกมากมายหลายหลากผุดขึ้นมาอย่างน่าสนเท่ห์และปะปนสับสนกันไป  แต่ด้วยเวลาไม่เพียงพอต่อการมานั่งคิดพิจารณาขบคิดปัญหา จำต้องรีบถ่ายรูปไว้ก่อน         ค่อยมาบันทึกกันวันหลัง แม้จะใช้เวลานานมากก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
คนเราเมื่อมาเห็นรากเหง้าตระกูลของตนเอง
เหมือนต้นไม้ที่มีราก และแก่นแท้
 ย่อมเกิดแรงบันดารใจในการทำความดีงาม
 เพื่อศักดิ์ศรี ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล


เมื่อรถเลี้ยวพ้นโค้งออกมา สายตามองทอดไปไกลๆ
เห็นบ้านก่ออิฐหลังคากระเบื้องสภาพแบบหนังจีนกำลังภายใน 
 ใช่แล้วหละ ....นี่แหละคือ  หมู่บ้านแต๊ต๋ง   ที่บรรพบุรุษของเรา แต๊ต๋ง  ตั้งแต่ต้นเค้า ก๋ง โจ้ว ท่านแรกจนถึงปัจจุบันได้ถือกำเนิดเกิดเรื่องราวมากมายทั้งหมู่บ้านนี้ และที่พรหมลิขิตกำหนดให้มาสร้างตำนานในประเทศไทย 
ทุกท่านผ่านความทุกข์ยากลำบาก ตรากตรำ เอาชีวิตของตนเองเข้าแลกมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ของตระกูล ผ่านความร้อนหนาวเจ็บปวดชอกช้ำมาอย่างทรหดอดทน  แน่นอนย่อมต้องเคยดูถูกเหยียดหยามมาแล้วอย่างมากมายหลายครั้งครานับไม่ถ้วน  จึงได้มาเป็นพวกเราที่อยู่ในปัจจุบันนี้ 
พระคุณของบรรพบุรุษจึงยิ่งใหญ่ไพศาลสุดจะพรรณาให้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ  ตัวอักษรไม่กี่ตัว หรือบันทึกเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ


ที่ลานหน้าหมู่บ้าน มีต้นลิ้นจี่ขนาดใหญ่  กวงอิ้วเคยบอกว่า 
 ที่ลานหน้าบ้านของพวกเราจะมีต้นลิ้นจี่ใหญ่  น่าจะเป็นต้นนี้


ด้านหน้าหมู่บ้านมีบ้านก่ออิฐตามแบบอย่างจีน หนึ่งประตู สองหน้าต่าง กระเบื้องมุงหลังคา แต่ก่อนก็สงสัยว่าทำไมประเทศจีนนิยมก่อสร้างด้วยวัสดุแบบนี้ ไม่ใช้ไม้  มาเข้าใจตอนที่มาถึงใหหลำ เพราะที่นี่ ฝนตก แดดออก สลับกันแบบนี้ทั้งปี  ถ้าใช้ไม้คงไม่ทนทานแน่นอน

บ้านบางหลังก็มีประตูเดียวหน้าต่างเดียว  หน้าต่างก็ใช้เหล็กเป็นท่อนเสียบตามยาวไว้  ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมบานหน้าต่างบ้านของ เดเซ็ง
ที่อำเภอนาแก จึงใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้  ท่านคงจำแบบไปจากหมู่บ้าน   แต๊ต๋ง แห่งนี้อย่างแน่นอน





เมื่อเดินทะลุเข้าไปข้างในบริเวณบ้านไม่ได้มีหลังเดียว แต่เป็นกลุ่มหมู่บ้าน   มีกำแพงบ้านรายรอบป้องกันสรรพภัยอย่างแน่นหนา  และก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เหมือนที่เห็นในภาพคงเพื่อป้องกันพายุฝนด้วย ในภาพเห็นญาติกำลังตักน้ำ พอเห็นเราถ่ายรูปก็ร้องโวยวาย คงไม่ชอบเข้ากล้อง


คณะของเราอาศัย ตงกวงซั่น และคุณยอดชายไกด์ประจำคณะทัวส์เป็นผู้บรรยายและเดินชมสภาพหมู่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มบ้านหลายหลังสภาพคล้ายกัน



ด้านหลังของบ้านบางหลังมีโรงครัวสภาพแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน      ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทำอาหารรับประทาน 

ด้านหลังของกลุ่มอาคารบ้านเหล่านี้ เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมส่วนตัว  เช่นการอาบน้ำ ห้องสี่เหลี่ยมมีเพิงสังกะสีพาดที่เห็นในรูป
น่าจะเป็นห้องอาบน้ำ หรืออาจเป็นที่ปลดทุกข์หนัก เบาด้วยก็ได้ 
 ยังไม่ได้มีเวลาทดลอง  ถ้าได้ไปคราวนี้ จะไปทดลองดูทุกอย่างที่สงสัย
ด้านข้างกำแพงบ้านมีอ่างหินขนาดใหญ่  ทำด้วยหินที่คงจะหนักมาก ถามดูบอกว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งนี้มานานเป็นร้อยปีแล้ว อาจสำหรับใช้อาบน้ำให้เด็กๆ หรืออ่างบัวก็ไม่น่าใช่ เพราะไม่เห็นนิยมปลูกไม้ประดับใดๆ
ตามสภาพที่เห็นคงไม่ได้ใช้งานอย่างใดเป็นเรื่องเป็นราว

ที่บ้านหลังนี้ อาม่าคนที่บอกว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องของภรรยา อามุ่ย (ตงกวงมุ่ย) บ้านไผ่ ได้พาเข้าไปดูในตัวบ้านเดินผ่านประตูนี้เข้าไป แล้วบอกว่า   ห้องขวามือที่ปิดประตูล็อคกุญแจ  เวลาอามุ่ยจากบ้านไผ่มาที่นี่            จะมาพักในห้องนี้

เมื่อคณะญาติที่อยู่ในหมู่บ้านทราบว่า คณะของเราจากเมืองไทย เป็นญาติ  แต๊ต๋ง เหมือนกันจึงได้พาเข้าไปที่ในห้องใหญ่กลางซึ่งมีตัวอักษรจีนแทนรูปวาด รูปถ่าย แล้วให้คณะของเราทำการไหว้บรรพบุรุษ  ในรูปนี้ คุณประสาท ตงศิริ  ได้จุดธูปและยกมือพนมอธิษฐานกราบไหว้บรรพบุรุษในนามลูกหลานที่อยู่ประเทศไทย  ในใจของคุณประสาทที่พาคณะดั้นด้นมาจนถึงที่นี่  คงอดปลาบปลื้มใจไม่ได้  เคยได้ยินพูดไว้ว่า  ถ้าไม่มีท่าน ก็ไม่มีเรา  อันเป็นคำกล่าวของผู้ที่มีความกตัญญูต่อบรรพชน  หากยกเอาคำพูดของก๋งอารีย์ ผู้ยืนอยู่ด้านขวามาพูด  ที่ว่า  เวลาหนึ่ง คนหนึ่ง  คุณประสาทก็ได้ทำให้เวลาในห้วงช่วงชีวิตนี้ มีคุณค่าความหมายขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งของตนเอง
 และลูกหลานในวงศ์ตระกูล แต๊ต๋ง






คุณประสาทได้ปีนขึ้นไปตามขั้นบันไดที่ญาตินำมาพาดให้ 
 ป๋าปรีชา เล็กวิจิตรธาดา  ได้ช่วยจับไว้ให้มั่นคง
 การปักธูปในมือคุณประสาทครั้งนี้ เป็นการบอกอะไรหลายอย่าง 
 ผมผู้บันทึกคิดว่า  มีนัยที่น่าสนใจ...
   ๑.คุณประสาทเป็นลูกหลานของตระกูล แต๊ต๋ง ของก๋งทวด ตงซีคิว        
จากสกลนครที่ได้ไปถึงหมู่บ้านนี้ในรอบ ๒๐ ปี ที่ผ่านมา
๒.การปักธูปคารวะคราวนี้ เป็นการเปิดศักราชใหม่ บอกให้รู้ว่า
ลูกหลานจากประเทศไทย จะได้กลับมาที่หมู่บ้านนี้อีก
  เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นมงคลของตระกูล แต๊ต๋ง เราให้เป็นที่ระลึกถึงต่อไป 







หลังจากคุณประสาทได้ปักธูปลงไปให้กระถางแล้ว ผู้บันทึกได้ขึ้นไปปักธูปสักการะบูชาท่านบ้าง  ซึ่งน่าจะเป็นคนแรกของก๋ง ตงซีคี  ที่ได้กลับมาคารวะบรรพชน ในหมู่บ้าน แต๊ต๋ง แห่งนี้   หลังจากปักธูปแล้ว ได้สาบานในใจว่า จะกลับมาที่หมู่บ้าน แต๊ต๋ง แห่งนี้อีกอย่างแน่นอน  เนื่องจากการมาคราวนี้  มีเวลากระชั้นชิด ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ต้องการ

ตงกวงซั่นเสื้อสีฟ้าและคณะญาติ แต๊ต๋งจากหมู่บ้านได้พาคณะญาติ แต๊ต๋ง จากเมืองไทยไปเดินเยี่ยมชมหมู่บ้านพร้อมอธิบายข้อมูลแบบคร่าวๆ
 ด้วยเวลาจำกัด และฉุกละหุกในการเล่าเรื่องราว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่ากัน
 เพราะเรื่องราวนานมาเป็นร้อยปีจะใช้เวลาจำกัดคงเป็นไปได้ยาก
ได้แต่คิดว่าจะมาใหม่คราวหน้า ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่...


คุณยอดชายไกด์ของเราได้สนทนาขอข้อมูลกับญาติซึ่งก็ได้ข้อมูลที่ดีมาก เพราะว่า อาม่าท่านที่อยู่กลางใส่หมวก ท่านนี้บอกว่า ท่านเป็นน้องสะใภ้ของภรรยา ตงกวงมุ่ย เดของคุณสะอาด อำเภอบ้านไผ่  และท่านได้ไปเอาอัลบั้มรูปเก่าที่ ตงกวงมุ่ย กับโกสะอาด เมื่อคราวกลับมาเยีายมหมู่บ้าน แต๊ต๋ง คราวที่แล้ว  และภาพในอัลบั้มบี้แหละที่ทำให้เราได้เห็นความลับของตระกูลเรา ซึ่งจะได้กล่าวถึงความลับนี้ในตอนต่อไป...และเมื่อค้นคว้าไปแล้ว  สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้บันทึกอย่างมาก  และเราจะได้ติดตามต่อไป

ผู้บันทึกเดินออกมาด้านหลังหมู่บ้านเห็นห้องสี่เหลี่ยมเดินเข้าไปดูไม่มีประตู  น่าจะเป็นห้องน้ำสำหรับอาบ  ส่วนไม้ไผ่นั้นคงใช้ตากเสื้อผ้า

สำหรับคันโยกที่มองเห็น น่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำบาดาลแบบโยก
 ตามสภาพน่าจะยังใช้งานได้อยู่  ไม่ได้ทดลองดูว่าใช้งานได้ไหม 
 แต่คิดว่าน่าจะได้  ไปคราวนี้จะลองดูสักหน่อย


เมื่อมองเข้าไปเห็นห้องสี่เหลี่ยมข้างในคงเป็นที่อาบน้ำ  ส่วนวงโค้งที่เห็นด้านนอก น่าจะเป็นที่สำหรับซักเสื้อผ้า หรือจะเป็นถังเก็บน้ำไม่แน่ใจ


ตากผ้าในห้องน้ำ



เดินซอกแซกเข้าไปในด้านหลังจะเห็นสภาพแบบนี้  มีทางเดินระหว่างอาคารแต่ละหลัง เหมือนหนังกำลังภายใน  แน่นอนว่า ถ้าจะใช้เงินในการก่อสร้างอาคารแบบนี้  ต้องใช้เงินมากมาย แต่ในสมัยก่อน คงไม่แพงมากนัก
  แต่ก็ไม่ชัดเจนได้แต่คาดคะเนเอาจากคำพูดของไกด์



กลุ่มอาคารที่พักเหล่านี้ เมื่อมองจากต้นลิ้นจี่ยักษ์หน้าลานบ้าน คงทนทานไปหลายไป ไม่แปลกใจเลยที่ คุณพ่อ ตงเค่งเซ็ง ท่านสร้างบ้านเน้นความแข็งแรงทนทาน  ส่วนข้างในบ้านพวกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับตบแต่ง ดูไม่ค่อยให้ความสนใจมาก คงได้รับอิทธิพลความคิดจากการมาอาศัยอยู่ที่นี่


ลานหน้าหมู่บ้าน แต๊ต๋ง  คาดว่าจะเป็นลานเอนกประสงค์
สำหรับทุกครอบครัวมาใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ในหมู่บ้านเท่าที่เห็นมีการเลี้ยงไก่  แพะ ไว้มากมายเหมือนกัน

ต้นขนุนมีมากมายในหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านแซ่ฝู่ และหมู่บ้าน แต๊ต๋ง
หมู่บ้านอื่นๆ ก็น่าจะมีมากมายเช่นเดียวกัน





เห็นกำแพงอิฐแตก ทำให้เห็นข้างในว่า เป็นอิฐกลวง  ซึ่งนอกจากจะประหยัดวัสดุแล้ว กล่องอิฐยังมีอากาศอยู่ข้างในเป็นการป้องกัน ความร้อน ความหนาวได้ ๒ ระบบ  ทำให้ตัวอาคารมีอุณหภูมิคงที่ 
ว่ากันว่าอากาศที่ใหหนำแปรปรวนอยู่มาก  ก๋งอารีย์บอกว่า...
 หากอยากรู้ว่าใครสุขภาพแข็งแรง ให้มาที่ใหหนำ 
 แต่ถ้าอยากจะรู้ว่า ตนเองมียศศักดิ์ขนาดไหน ให้ไปที่ปักกิ่ง
 เพราะที่นั่น นายอำเภอ หรือ ผู้ว่าก็อาจจะมีลำดับปลายแถวก็ได้ 


ต้นลิ้นจี่ยักษ์ต้นนี้น่าจะมีอายุมากกว่าร้อยปีอย่างแน่นอน


ด้านหลังของอาคารเมื่อเดินเข้าไปดูแบบรีบด่วน ที่ประตูแห่งนี้
 เหมือนมี  อะไร  สักอย่างมาดึงดูดให้ต้องหยุดชะงัก และทำสมาธิ
แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้ท่านไป  ไม่รู้ว่าเป็นอะไรที่จุดนี้ เหมือนมีอะไรสักอย่าง  เดาเอาว่า น่าจะเป็นที่พักของ ก๋ง  ตงซีคี  เก่ารกร้างผุพังแล้ว


ที่ด้านข้างกำแพงเห็นเป็นคอกไก่ เหวินชาง ที่อร่อยที่สุดในโลก มีต้นขนุนไม่โตมากนักแต่มีลูกดก คงเนื่องจากสภาพอากาศและดินที่อุดมสมบูรณ์
ตรงจุดนี้ ผมคิดเอาเองว่า น่าจะเป็นที่พักของ เด ตงเค่งเซ็ง เสียดายไม่มีโอกาสเวลาได้สอบถามรายละเอียด




ตงกวงเหยียน รูปร่างผอมบาง ไม่ชอบถ่ายรูป แต่หัวเราะสนุกสนาน ได้เป็นผู้เอาถุงพลาสติคให้ผู้บันทึก ใส่เศษกระเบื้องและดินหน้าบ้านของ ก๋ง ตงซีคิว เอากลับมาสกลนคร ดูสภาพบ้านของตงกวงเหยียนแล้ว ขนาดไม่ได้ใหญ่โตมากมายนัก แต่เมื่อดูสภาพอากาศแล้ว คงอบอุ่นป้องกันอากาศหนาวเย็นได้ดี  เดเซ็งเล่าว่า หน้าหนาวต้องตื่นแต่ดึก ตี ๒ ตี ๓ มือถือเอาบัวรดน้ำลงไปในสระน้ำ  ขาที่หยั่งลงไปในน้ำนั้นเหมือนจะขาดออกไปแล้วทั้งสองข้าง 
 แสดงว่าหน้าหนาวที่นี่คงหนาวอย่างมาก



ตงกวงเหยียนชี้มือให้ดูบ้านของก๋ง ตงซีคิว
 ที่ทรุดโทรมไปตามสภาพกาลเวลา





พื้นที่ดินหลังบ้านของ ตงซีคิว มีสภาพทรุดโทรม รกร้างไปตามสภาพ 
 ได้ยินว่าไม้ที่ท่านขนไปสร้างบ้านจากเมืองไทยก็เอาไปทำศาลบรรพชนประจำหมู่บ้านแล้ว  ซึ่งก็น่าเห็นใจ ปล่อยไว้ก็ผุพังเสียหาย

ในเขตบริเวณที่ดินของก๋ง ตงซีคิว ยังมีต้นฟักทองขึ้นแบบปลูกปล่อย
ตามธรรมชาติ แต่ดูงดงามมาก
   
ด้านหลังบ้านของก๋ง ตงซีคี ติดกับบึงน้ำขนาดใหญ่ 
 ตงกวงอิ้วบอกว่าเป็นหนองน้ำใหญ่  ดูแล้วเหมือนที่ว่าไม่ผิดเลย  ริมน้ำปลูกผักกินได้ทั้งนั้น ต้นมะพร้าว ต้นส้มโอ ลักษณะเป็นแบบป่าบุ่งป่าทาม



ได้ให้ตงกวงซั่นถ่ายรูปไว้ให้เป็นที่ระลึก และแลกเปลี่ยนกันถ่ายไว้  กวงซั่นอายุ ๖๘ ปี ผู้บันทึกอายุ ตอนนั้น ๕๐ ปี ทั้งสองคนมีศักดิ์เท่ากัน คือ กวง  แต่ความที่ผูกพันกันด้วยสายเลือด  แต๊ต๋ง  เดียวกัน  ทำให้สนิทสนมกันมาก  ทั้งสองคนกอดกันแบบซาบซึ้งใจ ทั้งสองคนต่างน้ำตาคลอหน่วย  ด้วยความดีใจปลื้มปิติยินดี  ไม่น่าเชื่อว่า เราทั้งสองคนจะได้มาพบกัน
ทั้งที่อยู่คนละประเทศ อยู่ไกลกันคนละฟากฟ้า มีทะเลจีนใต้ขวางกั้น       นึกถึงตอนนี้แล้วให้แปลกใจในความอดทน ต่อสู้อย่างลำบากของบรรพชนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจริงๆ  ถึงไม่แปลกใจเลยที่ เดตงเค่งเซ็ง
สอนให้ลูกทุกคนท่องคำว่า ลูกผู้ชายต้องอดทน
ก๋งอารีย์เล่าให้ฟังว่า ตราบใดที่ถูกคนถุยน้ำลายใส่หน้าแล้วอดทนได้ 
เราจะชนะและประสบความสำเร็จแล้ว



ตงกวงซั่นในวัย ๖๘ ปี ท่านทำงานราชการที่อำเภอ เกษียณอายุราชการแล้วอยู่ที่เหวินชางนานมาก ไม่ได้กลับหมู่บ้านหลายสิบปี
 แต่เมื่อคราวที่เจอกันท่านจะกลับมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน แต๊ต๋งนี้
ไม่ไปอยู่ในเมืองอีกแล้ว  หากได้ไปคราวนี้ คิดว่า คงมีโอกาสได้เจอกันอีก



หลังจากได้พูดคุยเล่าสารทุกข์สุขดิบกันแล้ว เนื่องจากมีเวลาจำกัด ท่องดูหมู่บ้านไม่ทั่วถึง แต่ก็ได้ข้อมูลญาติมาพอสมควรแล้ว ก็ได้เวลาร่ำลากัน
ถึงแม้ทุกคนจะไม่เข้าใจกันด้วยภาษาต่างกัน แต่เราเป็น คนตง  หรือ แต๊ต๋ง  หรือ แซ่ตง เดียวกัน ผู้บันทึกรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ยังไม่อยากจากมา  ไม่ใช่ความรู้สึกพลัดพรากจากหญิงสาวคนรัก แต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น เหมือนมาอยู่ในอ้อมกอดของผู้ที่เราสนิทสนม บริสุทธิ์ใจ ไม่มีแอบแฝงซ่อนเร้นเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง ภาระกิจที่ยังไม่เห็นกระดูกและหลุมศพก๋ง ตงซีคี ซึ่งเด ตงเค่งเซ็ง และพี่ชาย ตงเค่งมุ่ย เอาใส่หมอนขิดที่ป้าวากับเจ้กิมเลียงทำขึ้นมาถือลงเรือไปไว้ที่หมู่บ้านนี้ก็ยังไม่เห็น ยังไม่ได้กราบไหว้ และข้อมูลตระกูลที่สำคัญ  ป้ายหลุมศพบรรพชน ต๋งไต้ก๋ง  และรูปปั้นในศาลบรรพชนก็ยังไม่เห็น         จึงคิดว่าจะต้องกลับมาที่หมู่บ้าน แต๊ต๋ง ใหม่ อย่างแน่นอน

ขอบอกดวงวิญญาณบรรพชน แต๊ต๋ง ทุกท่านว่า...
  ลูกหลานจะพากันกลับมาคารวะอีกครั้งอย่างแน่นอน...
ขอสาบานต่อฟ้าดินจงเป็นพยาน....