วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ ๑๑ สุสานตระกูล แต๊ต๋ง หลุมศพ ตงเย็กกี


หลังจากเราได้ซักถามข้อมูลเรื่องราวหมู่บ้านกับตงกวงซ่านแล้ว คณะของเราก็เร่งรีบเดินทางขึ้นรถของคณะทัวส์ที่จัดมาอำนวยความสะดวกให้เพื่อเดินทางไปหมู่บ้านแต๊ต๋ง  เมื่อรถแล่นออกจากศาลบรรพชนมูลนิธิตระกูลฝู่ ได้รีบบันทึกภาพไว้  เพราะทุกภาพย่อมมีความหมาย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาที่นี่อีก  เมืองเหวินชางไม่ได้เหมือนที่เราคิดไว้เลย มีความเจริญทันสมัยพอกันกับขอนแก่นหรือโคราชเลยทีเดียว  ในใจเคยคิดว่าจะเหมือนกับหนังกำลังภาย มีวัดเส้าหลิน จอมยุทธสะพายดาบ ปล่อยพลังแสง...แต่ไม่เหมือน  ไม่มีซักหน่อย






รถวิ่งออกมาถึงนอกเมืองเหวินชางสัก 2 กม.เห็นถนนหนทางกว้างใหญ่มาก สะอาดสะอ้าน มีต้นมะพร้าวเขียวขจีสองฝั่งถนน การวิ่งรถที่นี่ใช้เลนขวา เมื่อผ่านตรงบริเวณสี่แยกมีวงเวียน  รถนำขบวนหลงทางต้องย้อนกลับมาใหม่ คราวนี้ เราเห็นสะพานคอนกรีตทอดผ่านลำห้วยมีราวเหล็กกั้นสูงสองฝั่ง  ข้อมูลตรงนี้ ขอให้ทุกท่านที่อ่านทำความเข้าใจนะครับว่า
 ในกูเกิ้ลเอริธจะเห็นสะพานกับถนนกำลังทำการก่อสร้าง
 แต่ในของจริงเสร็จและใช้งานนานแล้ว



เมื่อรถแล่นเลยสะพานไปสักหน่อยหนึ่ง  จะมีถนนเป็นวงโค้งยูเทิร์นตัดลงไหล่ทางลงไปข้างทางใหญ่  ซึ่งเป็นทางรถไฟความเร็วสูง  และจะมีป้ายสีฟ้าตัวอักษรสีขาวบอกทิศทางเข้าหมู่บ้าน ๔ หมู่บ้านในป้ายเดียวกัน  ป้ายหมู่บ้านแต๊ต๋งได้เปลี่ยนชื่อจากเดิม กะตุ่ยโผซุย กลายมาเป็น เหวินซิวโผซุย    ในป้ายเป็นหมู่บ้านบนซ้ายมือ







ถนนซอยเข้าหมู่บ้านแต๊ต๋งลาดคอนกรีตกว้างขนาดพอรถวิ่งสวนกันได้  ประมาณ ๓  กม.เลี้ยวซ้ายขวาแล้ว เราก็เห็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ความจริงน่าจะเรียกว่า บึง จะถูกต้องกว่า  ที่ตรงนี้ เป็นความจริงตามที่ ตงกวงอิ้ว อำเภอโนนสะอาด  จังหวัดอุดรธานี บอกไว้ ว่าทางเข้าหมู่บ้านเรามีหนองน้ำขนาดใหญ่  มีน้ำใสสะอาดมาก ร่มรื่นด้วยต้นไม้ริมน้ำรายรอบริมฝั่ง




ก่อนรถเลี้ยวขวามือเข้าหมู่บ้านจะมีป้ายบอกหนทางไปหมู่บ้านอื่น  เหมือนเดิมคือป้ายขนาดเล็กแต่มี ๔ หมู่บ้าน เพื่อความประหยัด แต่ป้ายของประเทศไทศไทยหมดงบประมาณสิ้นเปลืองมากมายมหาศาล  ผ่านสวนพริกไทย มากมาย   ที่ตรงนี้มีทางแยกเข้าสุสานของหมู่บ้าน  ตงกวงซ่านได้บอกให้หยุดรถและพาเดินไปในสุสานของหมู่บ้าน  มีป่าไผ่ตงขึ้นเป็นกอขนาดใหญ่  ป่าไผ่ มะพร้าว หมาก ดูจะเป็นของประกอบในทุกแห่งหนที่เราผ่าน





ตงกวงซ่านพาเดินจ้ำอ้าวเข้าไปในสุสานป่าช้าหมู่บ้าน เพื่อจะหาหลุมฝังศพของปู่ทวด  ป่าช้านั้นมีการถางโปร่งไปมากแล้วเหมือนกัน  นึกว่าจะหาเห็นง่าย  ที่ไหนได้ เนื่องจากกวงซ่านออกไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว จึงจำไม่ได้  พาเดินเลาะไปโน่นมานี่หลายจุด  สุดท้ายเหมือนมีอะไรมาดลใจให้ท่านเดินผ่านไปในป่าทางทิศเหนือซึ่งมีหญ้ารกเหมือนในภาพ  ผมจึงยกกล้องขึ้นถ่ายไว้....





เมื่อเราเดินอ้อมไปด้านหลังของป้ายหิน  ตงกวงซ่านทำสีหน้ายินดี และดีใจ  บอกเป็นภาษาใหหลำว่า ใช่แล้วๆๆ  คุณยอดชายไกด์ของเราก็ได้เข้ามาช่วยอ่านป้ายหินมีตัวอักษรจีนจารึกลงไปในหิน  มีหญ้าขึ้นรกเรื้อใต่ไปตามแผ่นป้ายหินกลบรอยสลักอักษรจีนอ่านไม่ค่อยออก   ต้องให้ทั้งสองคนช่วยกันอ่านถึงได้ใจความว่า  ร่างที่นอนทอดกายภายใต้ป้ายจารึกนี้ คือ ตงเย็กกี...

ผมผู้มีศักดิ์เป็นลูกหลาน อาศัยที่เคยฝึกดรรมฐานมานานหลายปี 
 เกิดความรู้สึกอึดอัด เกร็งขมึงขึ้นมาทั้งร่าง เกิดความรู็สึกปลาบปลื้มปิติยินดี
 อยากร้องไห้ขึ้นมา  น้ำตาคลอหน่วยจะไหลหลั่งริน

ผมเดินทางรอนแรมมาไกลป่านนี้ เพื่อจะได้พบเห็นคารวะหลุมศพคุณปู่
หรือก๋ง  ตงซีคี  แต่สิ่งที่ได้รับเป็นมงคลในชีวิตวันนี้ เหนือกว่า เกินคาดกว่าที่คาดคิดไว้  เพราะได้พบหลุมศพ ก๋งทวด  ตงเย็กกี.....

ตงเย็กกี...เป็นใคร  สำคัญเกี่ยวข้องกับลูกหลานแต๊ต๋งในเขตสกลนคร นครพนม โคกศรีสุพรรณ นาแก พระซอง  อย่างไร...

ตงเย็กกี คือใคร...ต้องขออธิบายเล็กน้อย เพราะผมคิดว่า เมื่อผมหมดลมหายใจสิ้นชีวิตตายไปแล้ว   คิดว่า พี่น้องลูกหลานในตระกูล  แต๊ต๋ง คงไม่อาจจะอธิบายเรื่องนี้ได้....
ตงเย็กกี มีพี่น้องอยู่ ๓ คน (บอกข้อมูลไม่ได้) เป็นปู่ทวดของผมและของลูกหลานแต๊ต๋งในประเทศไทยในเขตสกลนคร นครพนม นาแก พระซอง โคกศรีสุพรรณ

จากเอกสารหรือ ป๋วย ที่ตงกวงซ่านเอามาให้ดู  ท่านมีลูกชาย ๓ คน ได้แก่
          ๑.ตงซีกิว เป็นก๋งทวด หรือ ก๋งใหญ่ เป็นจีนใหหนำคนแรกที่เข้ามาอยู่ในสกลนคร
           ๒.ตงซีคิว  สืบข้อมูลไม่ได้
           ๓.ตงซีเคง  ท่านผู้นี้เดินทางไปอยู่เวียตนาม มีลูก ๓ คน ได้แก่
                   ๓.๑ เค่งขง
                   ๓.๒ เค่งฝู มีลูกชายชื่อ ตงกวงซั่น
                   ๓.๓ เค่งฟง  มีลูกชายชื่อ ตงกวงซ่าน 
                                  หรือผู้ที่ให้ข้อมูลเราวันนี้
          

  ตงกวงซ่าน ที่นั่งอยู่ซ้ายมือในรูป ได้บอกว่าท่านอายุ ๗ ขวบคุณพ่อเสียชีวิต ก่อนตายได้เอาหนังสือโบราณ หรือป๋วยไว้ให้ ๑ เล่ม  ท่านออกจากหมู่บ้านนี้ไปทำการงานตอนอายุ ๑๘ ปี โดยไปหางานที่อำเภอ นานๆ จะได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง โดยจะมีคนเฝ้าบ้านให้ ๑ คน 





วกกลับเข้ามาที่สุสานประจำหมู่บ้านอีกครั้ง...

       หลังจาก ตงกวงซ่าน บอกว่าร่างภายใต้ผืนดินแห่งนี้เป็นหลุมศพของ ตงเย็กกี ก๋งทวดแล้ว  ในฐานะที่เป็นเหลน ยามนี้ไม่มีประทัดพันดอกมาบอกเป็นสักการะ  ไม่มีดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชาดวงวิญญาณ  มีแต่สองมือประคองต่างแทนจิตใจที่ระลึกถึงพระคุณของปู่ทวดท่านนี้  น้ำตาหยดรินไหลอาบแก้มสะอื้นร่ำไห้กราบหลุมศพท่านอย่างไม่อายฟ้าดิน  ก็จะอายไปใย การกราบทำความเคารพบรรพบุรุษ  การทำความดี การซื่อสัตย์ กตัญญู   การมีคุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย  การทำความเลวซิ...น่าอาย 

      ผมจึงเป็นเหลนคนแรกในสายอำเภอนาแกในรอบเกือบร้อยปีที่ผ่านมาที่ได้มากราบคารวะท่าน....อธิษฐานว่า จะขอกลับมาคารวะดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสืบค้นเรื่องราว ในโอกาสต่อไปที่มีความพร้อม...









         ในป้ายหลุมศพนั้นจะบอกรายละเอียดว่า ผู้ตายเป็นใครเกิดและเสียชีวิตเมื่อไหร่ มีลูกกี่คน ใครบ้าง  คนจีนนิยมทำป้ายด้วยหินเพราะทนทานดี ทำให้ลูกหลานมาทำการกราบไหว้ได้ไม่หลงตำแหน่ง  แต่ในเมืองไทยนิยมทำด้วยไม้  นานไปก็ผุฟังสลายไปหมด
       ด้วยเหตุนี้ลูกหลานคนจีนจึงเพราะด้วยความนิยมในประเพณีในการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ จึงทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจการงาน   ตรงกับสุภาษิตอีสานว่า ผู้ได๋เถียงความพ่อแม่ ผีแก่เข้ามรหก..
       เป็นที่น่าเสียดายว่า ในสมัยที่มีการปฎิวัติได้มีการรื้อถอนป้ายหินประจำหลุมศพของบรรพบุรุษจีนมากมายไปทำถนนหนทาง  จึงทำให้เสียหายต่อประวัติศาสตร์ และจิตใจของลูกหลานชาวจีนอย่างมาก..


เปรียบเทียบป้ายในสุสานหมู่บ้านแต๊ต๋ง ซึ่งเป็นป้ายใหม่ 
ท่านใดอ่านออกช่วยอ่านด้วยจะเป็นพระคุณมาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น