วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตอนที่ ๗ บ้านบรรพบุรุษตระกูลผู่

              
            เวลา ๐๙.๕๐น. ออกจากเมืองต้าซื่อโผ (หรือดั่วสี่โพ หรือโด่สี่โพ)  ตามถนนหนทางเขียวชอุ่มงดงามตลอดสองข้างทาง  น้ำท่าอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ใครขี้เกียจเห็นจะอดตาย  แต่คงด้วยคนจีนมีอุปนิสัยอดทนมีความขยันขันแข็ง และคงด้วยธรรมชาติช่างโหดร้ายบังคับ เวลาน้ำฝนมาก็ท่วม  เวลาลมมาก็เป็นพายุ  เวลาหนาวก็หนาวจนเสียดเข้ากระดูก  ทำให้คนจีนขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ  และมีความอดทนสูง
         มองดูระหว่างเส้นทางที่ไปหมู่บ้านตระกูลผู่ ถนนลาดยางตลอดมีคลื่นขรุขระบ้างเล็กน้อย ป้ายบอกทางหมู่บ้านทำด้วยหินสลักขนาดใหญ่   ปลูกกระถินเทพาไว้สองข้างทางเต็มไปหมด ไม่ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า
            คิดดูแล้วก็ให้สงสัยประเทศไทยเรา  ทำไมไม่คิดปลูกต้นไม้ในเมืองให้เยอะๆ ให้เมืองทุกเมืองเขียวครึ้มให้หมด  แล้วค่อยขยายออกไปนอกเมือง  เพราะในเมืองมีคนเฝ้า หรือร้านค้าไหนปลูกต้นไม้ ๑ ต้น ลดภาษีให้ ๑๐ บาท  หรือเด็กคนไหนอยากกู้ยืมเงิน  กยศ.  ต้องปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่กำหนด คิดมูลค่าต้นละ ๑๐ บาท  อยากยืมมากก็ปลูกให้มาก และต้องรักษาด้วย  แบบนี้น่าจะดี...
            10.15 น. ถึงทางแยกไปหมู่บ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่ ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนเล็กในชนบทยังไม่ได้ลาดยาง
          











ทางแยกเข้าหมู่บ้านแซ่ผู่

       
ถนนเข้าหมู่บ้านยังเป็นถนนดินทุ่งนาสองข้างทางมีต้นไม้ขนาดเล็กร่มครึ้ม




  

ก๋งสองพี่น้องผู้เป็นตำนานแซ่ผู่

ระหว่างทางมีพืชต้นไม้ป่าเหมือนทางเมืองไทย
สังเกตุดูมีต้นหมากขะเม็กด้วย

เข้ามาได้สักครู่หนึ่งก็เห็นต้นหมาก ต้นลำใย ขนุนและไม้ผลอื่นๆ
ที่กินได้ปลูกอยู่เต็มไปหมดดูแล้วช่างอุดมสมบูรณ์จริง ๆ
สอบถามดูได้ความว่า  เพิ่งมาอุดมได้ไม่กี่สิบปีมานี้เอง 
สมัยก่อนแห้งแล้งมากกว่านี้


จุดประทัดบอกให้ฟ้าดินวิญญาณบรรพบุรุษทราบ

เมื่อรถคณะเรามาถึงก๋งอารีย์ และก๋งผู่จี้ต๋ง ได้พากันเข้าไปในบ้าน  สักหน่อยหนึ่งญาติพี่น้องลูกหลานท่านออกเดินออกมาพร้อมกับประทัดน่าจะยาวเป็นพันดอกได้กระมัง เอาไม้ไผ่มาเกี่ยวปลายประทัดห้อยขึ้นข้างบนตรงกิ่งต้นลำใยขนาดยักษ์ต้นหนึ่ง  จากนั้นก็จุดประทัด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวต่อเนื่องกันอย่างยาวนานมาก

จุดประทัดบอกฟ้าดินว่า มีญาติพี่น้องลูกหลานกลับมาคารวะให้บรรพบุรุษได้ทราบ

ประทัดเมื่อจุดติดก็ทำหน้าที่ส่งเสียงหนักแน่นต่อเนื่อง ควันโขมง
เสียงประทัดดังหนักแน่นต่อเนื่องตับๆๆๆๆๆ เสียงหนักแน่นต่อกันไปยาวนาน ควันประทัดก็ลุกโปรยโชยกลิ่น  ต้องวิ่งไปหลบไกล ๆ พร้อมหามุมถ่ายรูป   ระหว่างนั้นได้ยินเสียงจากที่ไกลๆ ไม่รู้ว่ามีงานหรือมีญาติพี่น้องลูกหลานมาคารวะหรือเปล่าเสียงประทัดดังสนั่นเหมือนกัน  หรือจะเป็นญาติพี่น้องของหมู่บ้านนี้ทราบข่าวแล้วจุดประทัดด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ

พอประทัดดอกสุดท้ายหมดเสียงมีควันลอยเป็นวงกลมออกมาอีกวงหนึ่ง
คงเป็นบรรพบุรุษท่านทำปาฎิหาริย์ให้ทราบ

ก๋งอารีย์ยืนดูการจุดประทัดบอกบรรพบุรุษด้วยท่าทางภูมิใจ
ประตูด้านข้างของหมู่บ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่

เราพากันเดินเข้าไปประตูด้านข้างของบ้านตระกูลผู่ ลักษณะตัวบ้านไม่ได้เป็นหลัง  แต่เป็นกลุ่มอาคารก่ออิฐหลังคามุงกระเบื้อง  อาณาเขตกลุ่มอาคารมีหลายหลังใหญ่โตมาก  ได้มีการปลูกตามหลักฮวงจุ้ยทุ่ดีทุกประการ  นัยว่าจะทำให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข

หมู่บ้านแซ่ผู่เมื่อถ่ายจากระยะไกล
มองดูเด่นโอ่อ่าสง่างามขรึมขลัง

ซุ้มประตูทางเข้าบ่งบอกความยิ่งใหญ่ 
ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของชีวิตผู้คนในตระกูลผู่

จากนี้ต่อไปอนาคต เรื่องราว"คนแซ่ผู่"
จะกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบไป




 ข้อมูลจากเวปไซด์ของหอการค้าไทย จีน ได้บอกว่า...
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีมายาวนานกว่าหนึ่งพันปี เริ่มต้นตั้งแต่พ่อค้าชาวจีนยุคบุกเบิกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย นับแต่ยุคแรกๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงศตวรรษที่ 17 การค้าขายทางเรืออยู่ในความควบคุมของชาวจีนเป็นหลัก
     ล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี การค้าขายของชาวจีนก็มีความโดดเด่นมากเช่นเดียวกัน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ก็ทรงสนับสนุนการทำธุรกิจเหล่านี้ และทรงต้อนรับชาวจีนอพยพซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสืบทอดในการสนับสนุนกิจกรรมการค้าของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้า ของไทย-จีนให้ยิ่งมั่นคงและยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เป็นยุคที่คนจีน เดินทางหลั่งไหลเข้ามาสู่ราชอาณาจักรของไทยเป็นจำนวนมาก


ลานบ้านขนาดใหญ่ของบ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่
ป๋าปรีชา เล็กวิจิตรธาดา



          ชาวจีนที่อพยพเข้ามาแยกย้ายกันไปอาศัยอยู่ตามท้องที่ ต่างๆ โดยแบ่งไปตามเผ่าพันธุ์ของตนเองเป็นหลัก
ชนชาวฉาวโจว (แต้จิ๋ว) ประกอบด้วยผู้คนจาก 6 เมืองคือ ฉาวอัน ฉาวหยาง เฉิงไห่ ผู่หนิง เจียหยาง หราวผิง ซึ่งเป็นเมือง ที่ตั้งอยู่ริมทะเล และเลียบปากแม่น้ำ
 ชาวกวางตุ้งมาจากกว่างโจว ชาวฝูเจี้ยน มาจากเมืองท่าเซี่ยะหมิน โดยมีชาวฉวนโจวและ จางโจวเป็นส่วนมาก
ส่วนชาวเค่อเจีย (ฮากกา) ไม่ได้มาจาก ภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่นนัก แต่มาจากมณฑลที่กระจัดกระจายอยู่ทาง ตอนใต้ของจีน
ชนชาวไห่หนานเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมณฑล ฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไห่หนาน ชื่อเมือง เหวินชาง และฉงซาน
กล่าวได้ว่าชาวจีนส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวฉาวโจว ตามมาด้วย ฝูเจี้ยน ไห่หนาน กว่างโจว ขณะที่ชาวเค่อเจียมีจำนวนน้อยที่สุด


จากซ้าย กรรมการมูลนิธิแซ่ผู่  เลขานุการตระกูลผู่ใหหนำสากล
คนกลาง  โหง้วคนยิ้ม  ผู้ควบคุมการก่อสร้างบ้านตระกูลผู่  
กางเกงดำเสื้อกั๊ก ผู้บันทึก   คนขวามือพนักงานขับรถ

ก๋งอารีย์ได้กรุณาเล่าประวัติของบ้านบรรพบุรุษแซ่ฝูให้ฟังว่า   หมู่บ้านต้าสวย อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านบรรพบุรุษตระกูลผู่นี้  ได้กำเนิดบรรพบุรุษท่านหนึ่ง มีศักดิ์เป็นอาปู่ของก๋งอารีย์ ชื่อว่า ฝูหลิน เป็นคนสร้างบ้านหลังนี้ในที่ดินเดิมที่เกิดมา  หมดเงินค่าก่อสร้างไป ๑๐๐ ล้านบาท  แต่ที่น่าแปลกใจคือปู่ฝูหลินไม่เคยกลับไปเยี่ยมชมดูแลพักอาศัยในบ้านหลังนี้เลยจนตราบสิ้นชีวิต 
รูปของบรรพบุรุษตระกูลผู่ในบ้าน

รูปบรรพบุรุษตระกูล 
 บอกได้ถึงความขลึมขลังเปี่ยมศรัทธาในศักดิ์ศรี

ก๋งอารีย์เป็นผู้ที่ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสต่อ ปู่ฝูหลิน ท่านนี้อย่างมาก   ประวัติของปู่ฝูหลินจากปากคำของก๋งอารีย์และจากหนังสือประวัติก๋งอารีย์หน้า ๒๖๑ - ๒๖๗ เล่าว่า  ปู่ฝูหลินมีฐานะยากจนลำบากมาก  มีอาชีพไปหาซื้อปลากับเรือประมงที่ออกไปจับปลาตอนเช้า  การไปซื้อปลาต้องเดินไปเป็นระยะทางมากกว่า ๑๐ ลี้ เมื่อได้ปลามาแล้วก็หาบปลาเดินเร่ไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อได้เงินมาแล้วก็เอามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน  ถ้าขายปลาไม่หมดก็จะเอามาทำปลาเค็มตากแห้ง  แล้วก็หาบเอาไปขายอีกในวันต่อไป  บางวันฟ้าฝนชุกขาดแสงตะวัน  ปลาเค็มเน่าเสียขาดทุนก็มีหลายครั้งครา  การดำรงชีวิตด้วยอาชีพขายปลานี้ลำบากมาก

ก๋งอารีย์จับมือกับ โหง้วคนยิ้ม 
 ผู้กำกับดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่

โหง่วคนยิ้ม กับก๋งอารีย์

วันหนึ่งญาติคนในหมู่บ้านเดียวกันที่เดินทางกลับจากประเทศสยาม ได้มาเล่าเรื่องการไปรับจ้างทำงานอาชีพและชักชวนให้ไปทำงานที่สยามด้วยกัน  ประกอบกับคำกล่าวที่ว่า อยู่ที่นี่ไม่มีโอกาสแสดงฝีมือออกมาได้แม้เบี้ยเดียว (ชีวิตไร้คุณค่า) ทำให้ปู่ฝูหลินตัดสินใจเดินทางเข้ามาประเทศไทย  สำนวนหนังสือเขียนเปรียบเทียบได้สนุกสนานฮึกเหิมว่า  ซื้อพายขึ้นเหยียบเส้นทางตลุยศึกสู่ดินแดนไทยตีใต้นภาบุกเบิกอาณาจักร  

หน้าต่างให้ความรู้สึกที่ดีมาก

เมื่อมาถึงประเทศสยามที่เมืองหลวงกรุงเทพสถานที่แปลกตาไม่คุ้นเคย  ปู่ฝูหลินได้ตั้งใจคิดไว้ว่า งานการอะไรก็จะทำไปทุกอย่างเพื่อให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง  ประกอบกับตัวท่านเป็นผู้มีร่างกายสูงใหญ่ มีความอดทนสูง  วันหนึ่งได้เดินไปที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  เห็นชาวบ้านเผาถ่านไม้ขาย ท่านจึงไปเริ่มอาชีพพ่อค้าเร่อีกครั้ง  อยู่ใหหลำเร่ขายปลา มาอยู่สยามเร่ขายถ่านไม้  วิธีการคือเอาไม้คานหาบถ่ายแบกใส่บ่าแล้วเดินตากแดดเร่ร้องขายไปตามถนนใหญ่และซอกซอย เหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไครย้อย ถึงแม้ได้กำไรวันหนึ่งเล็กน้อยก็ตาม  แต่ด้วยการประหยัดอดออมและขยันอดทนเพื่อสะสมรายได้ทำทุน  ปู่ฝูหลินจึงพากเพียรขยันอดทนเพื่ออนาคต


หลังจากนั้นปู่ฝูหลินได้เปลี่ยนอาชีพพ่อค้าเร่สินค้าใหม่  ด้วยเห็นช่องทางว่า บ้านเรือนของผู้คนเมื่อเสียหายย่อมต้องใช้ไม้ซ่อมแซม  ประกอบกับคำชี้แนะนำของเพื่อน  ท่านจึงไปที่แผนกขายไม้ของบริษัทอีสเอเชียติ๊ค จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการโดยชาวเดนมาร์ค ขอซื้อไม้ซุงที่มีตำหนิบกพร่องราคาถูก ขนกลับไปเลื่อยด้วยมือที่บ้านพัก แล้วบรรทุกใส่รถเข็นร้องเร่ขายไปตามบ้านเรือน  ทำกำไรได้มากกว่าเร่ขายถ่าน




จากเร่ขายปลา  เร่ขายถ่าน  มาเร่ขายไม้  กิจการของปู่ฝูหลินนับว่าดีขึ้นกว่าเดิม  ด้วยความขยันอดทน มองการไกล ท่านได้ซื้อไม้ซุงจากบริษัทมากยิ่งขึ้นเลื่อยเป็นแผ่นเสร็จแล้ว เอาไม้มาวางแยกขนาดเป็นกองๆ  ขายได้ดีมากยิ่งขึ้น  ลูกค้าเก่าก็มาติดต่อซื้อไปอยู่เป็นประจำ  ทำให้กิจการของท่านเจริญรุดหน้าราบรื่น  สำนวนในหนังสือว่า  ดุจเรือชักใบแล้วแล่นไปตามลมตลอดการเดินทาง  และปู่ฝูหลินได้ตั้งโรงเลื่อยไม้ขยายการผลิตให้ใหญ่โตยิ่งขึ้น


กิจการโรงเลื่อยไม้ของปู่ฝูหลินนับว่าเป็นโรงเลื่อยไม้โรงแรกที่ดำเนินกิจการโดยคนจีนใหหนำแท้ๆ และเป็นการดำเนินกิจการในยุคทศวรรษ ๑๐  ที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง  เพราะในระยะเวลาไม่นาน กิจการโรงเลื่อยไม้ได้ขยายออกไปถึง ๗  แห่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยความที่ท่านปู่ฝูหลินเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อและให้ความสงสารผู้คนในหมู่บ้านต้าสวย  เมืองเป้าหลัว อำเภอเหวินชาง (บุ่นเซียวกวย) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ท่านถือกำเนิด  ท่านจึงได้ติดต่อออกทุนการเดินทางให้คนหนุ่มในหมู่บ้านต้าสวยเดินทางมาร่วมทำงานกับท่านที่โรงเลื่อยที่ตั้งขึ้นนี้  และคนแซ่ฝู  เข้ามามากที่สุด  หนึ่งในนั้น คือ บิดาของก๋งอารีย์  มีชื่อว่า  ชี่หรง 



กิจการโรงเลื่อยไม้ของปู่ฝูหลินเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก  และได้ขยายกิจการออกไปที่ฮ่องกง   เซี่ยงไฮ้  รวมทั้งเมืองไทยด้วย  จำนวนถึง  ๑๘  แห่ง   ถือว่า ท่านเป็นอัฉริยะทางการค้า  หรือเป็น  มังกรใหหนำยุคต้น    ได้อย่างแท้จริง  เพราะเมื่อมองภูมิหลังของท่านแล้วนับว่าน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่คนในชนบทหมู่บ้านเล็กๆ  ที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบ  การศึกษาน้อย  มีแต่อาศัยความขยันอดทน  หัวใจที่แกร่ง  วิสัยทัศน์มุมมองที่เฉียบคม  พร้อมน้ำใจเปี่ยมล้นอารีย์ต่อญาติพี่น้องและบ้านเกิดเมืองนอนเท่านั้น  ก็สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองฐานะความเป็นอยู่ขึ้นมาในระดับต้นๆของกิจการค้าในสมัยนั้นได้

หลังจากเมื่อกิจการโรงเลื่อยไม้ของท่านได้เจริญรุ่งเรืองมั่นคงแล้ว  ปู่ฝูหลินได้คิดถึงญาติพี่น้องในหมู่บ้านต้าสวย  ท่านจึงได้บริจาคเงินทุนทรัพย์รวมแล้วมีมูลค่า ๑๐๐  ล้านบาทไทย  เพื่อไปสร้างบ้านขนาดใหญ่ในที่ดินเดิมที่ท่านถือกำเนิดขึ้นมา   กล่าวได้ว่า เป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านต้าสวย และอาจเป็นบ้านหลังเก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุดในเมืองเป้าหลัว หรือ อาจจะใหญ่ที่สุดในอำเภอเหวินชาง  ก็อาจเป็นได้  บ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่ ที่ก๋งอารีย์พาเรามามาชมความยิ่งใหญ่หลังนี้  และเมื่อเราได้ทราบความเป็นมาของบ้านหลังนี้แล้ว ยิ่งทำให้ความคิดมุมมองของฤาษีผู้บันทึกเรื่องราวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  สมดังคำที่ก๋งอารีย์พูดไว้ตอนอยู่บนเครื่องบินว่า กลับจากใหหนำอาจารย์จะมีมุมมองความคิดเปลี่ยนไป
หมู่บ้านนี้ แต่ก่อนมีเพียง  ๕  หลังคาเรือน แต่ทุกวันนี้อาจจะเป็นเพราะทำเลที่ตั้ง  การก่อสร้างบ้านถูกทำเลที่ตั้งฮวงจุ้ยเป็นมงคล  เข้าตำราทุกประการ  ทำให้ลูกหลานแซ่ผู่ที่กระจายกันไปประกอบอาชีพทำมาหากินต่างถิ่นต่างประเทศหลายแห่งเจริญร่ำรวยรุ่งเรืองมากมาย  จึงกลับมาสร้างบ้านในหมู่บ้านต้าสวยเพิ่มขึ้นอีกเป็น  ๑๑  หลัง  แต่ละหลังมีความสวยงามขนาดใหญ่


ศรัทธาความเชื่อของชาวจีนที่ให้เคารพกราบไหว้บรรพบุรุษ  การเซ่นไหว้วันตรุษจีน  วันเช็งเม้ง  ...  ยิ่งการสร้างบ้านให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษได้อยู่อาศัย  จักทำให้ตนเองเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขนั้น  น่าจะเป็นความจริง



หมู่บ้านบรรพบุรุษแซ่ผู่  เขียนเป็นคำจีนอ่านได้ว่า
บุ่นเซียวซี่ บ่นเตี่ยเดี๋ยน เตี่ยเตียนลี่  โหง้วตับลัก   
 นายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง  คือ  โหง่วคนยึ้ม 


หลังจากชมความยิ่งใหญ่และรับทราบความเป็นมาของบ้านบรรพบุรุษตระกูลผู่ด้วยความภาคภูมิใจในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยันอดทน เสียสละ จนประจักษ์ด้วยสายตาอิ่มเอมใจแล้ว ต้องฉลองให้อิ่มท้องสบายใจด้วยอาหารจีนรสชาติแบบเดิมๆ ด้วยไข่หมกเกลือ  ไก่ใหหนำขนานแท้ หมูพะโล้ แพะตุ๋น ปลาทะเลกระโดดเหิรหาว ผัดผัก กระเทียมพริกสด ข้าวมันหมกใบมะพร้าว และอื่น ๆ ด้วยสไตย์การรับประทานจีนใหหนำแบบโบราณเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
 ทานไปก็คิดถึงชาวจีนใหหนำเมื่ออดีตที่ผ่านมาเป็นร้อยปี  รวมทั้งบรรพบุรุษแซ่ตง ก็คงรับทานอาหารแบบนี้กระมัง  หากวิญญาณของบรรพบุรุษใหหนำรับทราบได้และท่านมานั่งดูลูกหลานรับประทานอาหารอยู่ขณะนี้  ท่านคงปลื้มปิติดีใจเป็นแม่นมั่น 
ถึงตอนนี้ก็ให้คิดถึงและอดที่จะขอบพระคุณทุกท่านไม่รู้วาย  คิดในใจว่า มีโอกาสจะกลับมาอีก ......
เวลา 12.40 น. ออกจากหมู่บ้านตระกูลผู่     ก่อนจะกลับทุกคนลากันเหมือนญาติสนิทสนมกันมานาน   ญาติที่เฝ้าบ้านจะเอาไข่หมกเกลือและอาหารอื่นให้ไปทานระหว่างทางด้วยน้ำใจเอื้ออาทร  แต่คณะเราดูไม่สดวกขอฝากไว้ก่อน  คราวหน้าจะกลับมาทานใหม่
สายตาทุกคนบ่งบอกความคิดถึงปนเศร้าอ้างว้างอาดูร....ในใจของทุกคนคงคิดเหมือนกันว่า ...จะกลับมาใหม่เหมือนกันละมัง..

 

อ้างอิงจาก
 http://www.thaicc.org/th/culture/culture/417-2010-09-20-06-31-43.html